ช้างไทยพื้นที่ป่าอนุรักษ์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละ 8.2%
วันที่ 12 สิงหาคม นอกจากจะเป็นวันสำคัญของคนไทย เนื่องในวันแม่แห่งชาติแล้ว ยังตรงกับวันสำคัญอีกหนึ่งวันนั่นก็คือ วันช้างโลก (World Elephant Day) ซึ่งจุดประสงค์ของวันช้างโลก ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้สาธารณชนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของช้าง พร้อมทั้งร่วมรณรงค์อนุรักษ์และปกป้องช้าง จากการถูกคุกคามโดยมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกถิ่นอาศัย การถูกล่า ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ประชากรช้างทั่วโลกลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว
สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า ปัจจุบันช้างป่าอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ประมาณ 3,168-3,440 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ จำนวน 69 แห่ง และภายในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบางแห่ง มีพื้นที่ที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่าราว 52,000 ตร.กม กลุ่มป่าที่มีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ประชากรช้างป่าได้แก่ กลุ่มป่าตะวันตก กลุ่มป่าตะวันออก กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว และกลุ่มป่าแก่งกระจาน ประชากรช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งในประเทศไทย พบว่าส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ราว 8.2% ต่อปี
ปัญหาหลักของการอนุรักษ์และการจัดการช้างป่า ในปัจจุบัน ได้แก่ การลดลงของทั้งขนาดและคุณภาพของถิ่นอาศัย และปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์กว่า 41 แห่งทั่วประเทศ โดยพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 25 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 16 แห่ง
|